กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นกิจกรรมแรกของทุกวันที่เด็กปฐมวัยต้องมาโรงเรียนเพื่อฝึกให้เด็กมีทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็ก (มือและแขน) กล้ามเนื้อมัดใหญ่ (ขาและเท้า) ประกอบกับการส่งเสริมจินตนาการและสติปัญญาผ่านการฟังความหมายของบทเพลงหรือคำสั่งต่าง ๆ ที่สนุกสนานภายในห้องเรียน ซึ่งกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะสำหรับเด็กปฐมวัยจะมีความแตกต่างกันในรูปแบบแปลกใหม่ตามแต่ที่คุณครูกำหนดขึ้น แต่โดยปกติก็จะแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบหลักในการคิดจัดกิจกรรม ดังนี้
1.กิจกรรมเคลื่อนไหวตามเสียงเพลง

กิจกรรมเคลื่อนไหวตามเสียงเพลง เป็นรูปแบบกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะสำหรับเด็กปฐมวัยที่ครูมักชอบจัดให้เด็กมากที่สุดเพราะ เด็กปฐมวัยมักชอบอยู่กับเสียงเพลงที่ทำให้เพลิดเพลินและสนุกสนาน ยิ่งเป็นจังหวะรวดเร็วก็ยิ่งทำให้กิจกรรมมีความน่าตื่นเต้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งคุณครูจะใช้เพลงประกอบในหน่วยการเรียนรู้ของสัปดาห์นั้น ๆ เช่น หากสัปดาห์นี้เด็กได้เรียนในหน่วยฝนก็จะร้อง “เพลงหลบฝน” เพื่อให้เด็กได้เคลื่อนไหวตามความหมายของเพลงที่เหมือนกันโดยที่มีคุณครูเป็นคนนำท่าทางประกอบ เป็นต้น แต่บางวันก็อาจมีการเปิดเพลงบรรเลงอิสระให้เด็กได้เคลื่อนไหวตามจินตนาการเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และครูก็อาจมีอุปกรณ์อย่างริบบิ้นให้เด็กได้ใช้ประกอบการเต้นรอบห้องตามความสนใจด้วย
เพลง หลบฝน (หน่วยฝน)
ซ่า ซ่า ซ่า ฝนตกลงมากระเซนเป็นฝอย
เด็กๆหลบฝนกันหน่อย เด็กๆหลบฝนกันหน่อย
เปียกฝนเล็กน้อย เดี๋ยวจะเป็นหวัดเอย
*ฮัด เช้ย ฮัด เช้ย ฮัด เช้ย (ซ้ำ1ครั้ง)
2.กิจกรรมเคลื่อนไหวตามคำบรรยาย

กิจกรรมเคลื่อนไหวตามคำสั่งเป็นกิจกรรมเคลื่อนไหวที่ครูจะมีการบรรยายสถานการณ์หรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่อาจคิดเองหรือนำมาจากในนิทานให้เด็กได้แสดงการเคลื่อนไหวเป็นตัวละครนั้นแล้วเมื่อเจอกับจุดที่น่าตื่นเต้นก็ให้ทุกคนทำท่าทางตื่นเต้นไปกับเรื่องราว กิจกรรมนี้จะทำให้เด็กปฐมวัยรู้สึกลุ้นและอยากรู้ว่าในการดำเนินเรื่องราวตามคำบรรยายของคุณครู พวกเขาต้องเจอกับอะไรบ้างที่เป็นสิ่งที่น่ากลัว น่าสนใจอยู่ในภาพจินตนาการซึ่งตัวเองสร้างขึ้น และยังฝึกให้เด็กรู้วิธีปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันได้ด้วยหากเกิดเหตุการณ์เหมือนในเรื่องราวจริง ๆ
3.กิจกรรมเคลื่อนไหวตามจังหวะดนตรี

กิจกรรมเคลื่อนไหวตามจังหวะ เป็นกิจกรรมที่ครูจะนำเครื่องดนตรี เช่น กลอง ,กีต้าร์ หรือแทมโบรีน เป็นต้น มาใช้ให้เกิดจังหวะช้าและเร็ว ไม่มีการร้องเพลง เน้นเพียงสร้างจังหวะเท่านั้น ซึ่งเด็กปฐมวัยจะได้เคลื่อนไหวตามจังหวะดนตรีที่ครูกำหนดซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการเคลื่อนไหวไปข้างหน้าแบบวงกลมใหญ่ในห้องเรียน หากคุณครูเล่นดนตรีในจังหวะช้าก็ให้เด็กเคลื่อนไหวช้า ๆ แต่หากเล่นในจังหวะเร็วก็ให้เด็กเคลื่อนไหวเร็ว ๆ ในบางครั้งกิจกรรมเคลื่อนไหวตามจังหวะดนตรีจะถูกต่อยอดนำมาใช้เป็นการสร้างกติกาให้สัญญาณกับเด็กปฐมวัยเพื่อให้เด็กฝึกจดจำ ใช้ไหวพริบ และเข้าใจในสัญลักษณ์ต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เช่น หากคุณครูเคาะแทมโบรีนเป็นจังหวะช้าก็ให้เด็ก ๆ ทำท่าเลียนแบบนกบิน แต่เมื่อเคาะเร็วก็ให้เด็กทำท่าเลียนแบบเพนกวิน เป็นต้น
#กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ #เด็กปฐมวัย #แม่บ้านยุคใหม่