สำหรับหลาย ๆ คน “กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย” อาจจะเป็นเพียงกิจกรรมเล็ก ๆ ที่ให้เด็กปฐมวัยได้มีอิสระในการสร้างผลงานของตัวเองตามจินตนาการภายใต้กติกาประเภทงานและวัสดุที่ผู้สอนจัดไว้ให้ แต่ที่จริงแล้ว กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมที่ใหญ่ที่สุดในบรรดา 6 กิจกรรม
การเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยรายวันเลยก็ว่าได้ เพราะมีกระบวนการจัดกิจกรรมที่หลายขั้นตอนและซับซ้อนจนคุณอาจไม่คาดคิดว่าระยะเวลาเพียง 20 – 25 นาทีจะสามารถเพียงพอในการสร้างสรรค์ผลงานสำหรับเด็กปฐมวัยได้เลย ซึ่งจะมีกระบวนการจัดกิจกรรมอย่างไรบ้างนั้นไปดูกันเลยดีกว่า

ขั้นที่ 1 เตรียมพร้อมกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย
ในขั้นแรกของกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์นี้ ผู้สอนต้องมีการจัดเตรียมอุปกรณ์และวัสดุที่จะใช้สร้างสรรค์ผลงานให้แก่เด็กปฐมวัยครบทุกโต๊ะแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพู่กัน วัสดุธรรมชาติ ดินสอ สีเทียน หรือแม้แต่กระดาษ ทุกอย่างผู้สอนต้องจัดหาให้เด็กปฐมวัยเอง และแต่ละโต๊ะก็ต้องมีการปูเสื่อน้ำมันเพื่อไม่ให้เลอะเทอะและทำความสะอาดลำบาก
เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ยิ่งเลอะยิ่งเรียนรู้” นับเป็นคำนิยามสำหรับเด็กปฐมวัยเลย เราไม่สามารถห้ามเด็กได้ แต่ก็พอจะดูแลอยู่ห่าง ๆ และก่อนจะเริ่มทำกิจกรรมก็ต้องมีการท่องกติกาการทำกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ร่วมกันเพื่อให้เข้าใจอย่างทั่วถึง

ขั้นที่ 2 เด็กปฐมวัยทำกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ 4 โต๊ะ
หลังจากเด็กปฐมวัยทุกคนได้รู้กติกาในการทำกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์แล้ว ผู้สอนก็ให้เด็กได้ดำเนินการสร้างผลงานศิลปะของตัวเองไปตามใจชอบ โดยกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์จะมีอยู่ด้วยกัน 4 โต๊ะ แต่ละโต๊ะจะนั่งกันเป็นกลุ่มเพื่อสร้างสรรค์ผลงานคนละรูปแบบ เช่น โต๊ะที่ 1 วาดภาพจากลายใบไม้ โต๊ะที่ 2 ปั้นดินน้ำมัน โต๊ะที่ 3 เป่าสี โต๊ะที่ 4
ต่อเติมเรื่องราวให้ภาพที่กำหนดมาให้ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเด็กที่อยู่โต๊ะกิจกรรมศิลปะไหนทำงานของตัวเองเสร็จแล้วก็สามารถเลือกมาทำงานศิลปะอีกรูปแบบที่โต๊ะอื่นได้ตามความสนใจ แต่จะต้องวนจนครบ 4 โต๊ะเสมือนเป็นฐานกิจกรรมใหญ่ ๆ เลย ซึ่งนี่เองที่เป็นจุดเด่นของกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์

ขั้นที่ 3 ให้เด็กเป็นผู้ออกมาเล่าความประทับใจในผลงานศิลปะสร้างสรรค์
เมื่อเด็กปฐมวัยสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของตัวเองจนครบกำหนดเวลาการดำเนินกิจกรรมแล้ว ผู้สอนก็จะเรียกให้เด็กทุกคนไปนั่งแถวรวมกันกลางห้องเรียนและให้เด็กแต่ละคนออกมานำเสนอผลงานศิลปะที่ตัวเองเป็นคนสร้างสรรค์ในโต๊ะต่าง ๆ ว่าภาพที่ตัวเองทำมีเรื่องราวอย่างไร น่าสนใจตรงไหน แล้วประทับใจมากน้อยเพียงใด
แต่หากเวลามีน้อยก็อาจเรียกตามลำดับเลขที่แทนวันละ 4 – 5 คน พออีกวันก็เรียกเลขที่ต่อจากวันนี้ก็จะทำให้ทุกคนได้มีโอกาสออกมาเล่า เป็นการส่งเสริมความกล้าแสดงออกและการฝึกทักษะการพูดของเด็กปฐมวัยด้วย
รูปภาพประกอบ : Pixabay
#กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย #ไลฟ์สไตล์ของแม่บ้าน #แม่บ้านยุคใหม่