ในวัยทำงานปัญหาที่พบเจอบ่อยครั้งสำหรับคนทำงานออฟฟิศก็คือ อาการออฟฟิศ ซินโดรม ที่คุกคามคนทำงานทีละนิดแบบคุณไม่ทันตั้งตัว กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็กลายเป็น ออฟฟิศ ซินโดรมเสียแล้ว สำหรับผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคออฟฟิศ ซินโดรมอาจจะไม่เข้าใจถึงอาการและอันตรายของมัน ซึ่งวันนี้เราได้หยิบเอาวิธีการดูแลตนเองให้ห่างไกลจากออฟฟิศ ซินโดรมมาแนะนำกัน ใครที่กำลังสงสัยว่าตนเองนั้นเป็นออฟฟิศ ซินโดรม อยู่หรือเปล่า ไม่ควรพลาดจ้า

วิธีการดูแลตนเองให้ห่างไกลออฟฟิศ ซินโดรม
- ปรับขนาดจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ระดับพอดีกับสายตา ไม่ควรต่ำหรือสูงมากเกินไป เพื่อจะไม่ต้องก้มหรือเงยจนเกินไป เพราะจะทำให้ปวดเมื่อยได้
- ถนอมสายตาด้วยการปรับแสงหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้มีความสมดุลกับความสว่างภายในห้องทำงาน
- ปรับท่านั่งทำงานให้สะโพกและหลังชิดกับพนักพิงเก้าอี้ เพื่อลดอาการปวดหลังจากอาการออฟฟิศ ซินโดรม
- ความสูงของเก้าอี้นั้นสำคัญ เท้าทั้งสองข้างควรแตะพื้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อช่วยลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อนั่นเอง
- พักสายตาจากหน้าจอทุกๆ 15-20 นาที ไม่ควรนั่งทำงานโดยจ้องจอนานจนเกินไป ควรมีเวลาพักสายตาบ้างด้วยการมองออกไปข้างนอกระยะไกล เพื่อเป็นการลดการทำงานของกล้ามเนื้อตา

- ไม่อยากเป็นออฟฟิศ ซินโดรมอย่านั่งนาน เปลี่ยนท่วงท่าบ้าง ควรเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 1 ชั่วโมง ไม่ควรนั่งนานจนเกินไป ควรลุกเดินยืดเส้น ยืดสายบ้าง
- ออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อ ก่อน ระหว่าง และหลังทำงานบ้าง เพื่อเป็นการยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ และเตรียมความพร้อมในการทำงาน
- แก้ออฟฟิศ ซินโดรมด้วยการดื่มน้ำเพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย อย่าคิดว่าน้ำดื่มไม่สำคัญ เพราะความสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายที่ดีส่งผลให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์และคาเฟอีนก่อนนอน เพราะจะทำให้เพิ่มการตึงตัวของกล้ามเนื้อ และทำให้กล้ามเนื้อที่อักเสบหายยากขึ้นกว่าเดิม
- ไม่ควรสูบบุหรี่ เพราะมีผลต่อการปวดและอักเสบของกล้ามเนื้อ จะทำให้อาการออฟฟิศ ซินโดรมเป็นหนักขึ้นกว่าเดิม

เป็นอย่างไรกันบ้างกับวิธีรับมือกับอาการออฟฟิศ ซินโดรม อย่าคิดว่าอาการนี้ไม่สำคัญ เพราะมันจะทำให้คุณรู้สึกลำบากมากเวลาทำงาน คุณจะเหนื่อยล้ามากกว่าปกติ ในบางรายถึงขั้นต้องพักงานกันเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นหากตรวจสอบตัวเองแล้วพบว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นออฟฟิศ ซินโดรมก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น แต่ถ้าหากเป็นขั้นรุนแรงแนะนำให้รีบเข้าพบแพทย์จะดีที่สุด
#ไลฟ์สไตล์ของแม่บ้าน #แม่บ้านยุคใหม่ #ออฟฟิศซินโดรม