การเล่นตามมุมประสบการณ์ เป็นการทำกิจกรรมเล่นตามมุมการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่สามารถให้เด็กปฐมวัยเป็นผู้เลือกเล่นได้อย่างอิสระในช่วงกิจกรรมเสรี เพื่อให้เกิดความผ่อนคลายและได้รู้จักตัดสินใจเลือกในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อีกทั้งช่วยให้พัฒนาทักษะทางสังคมได้ด้วย ซึ่งในปัจจุบันการเล่นตามมุมประสบการณ์ภายในห้องเรียนได้มีการนำแนวคิดการจัดการเรียนรู้แก่เด็กปฐมวัยตามหลักสูตรของไฮสโคปมาใช้ทำให้นอกจากการที่เด็กจะได้รู้จักตัดสินใจให้เป็นแล้ว เขายังจะได้ทักษะอื่นตามมาด้วย วันนี้เราก็จะพาคุณครูทุกท่านมารู้จักการเล่นตามมุมประสบการณ์ภายใต้แนวคิดไฮสโคป

แนวคิดการจัดการเรียนรู้เด็กปฐมวัยตามหลักของไฮสโคป
การจัดการเรียนรู้แก่เด็กปฐมวัยตามหลักสูตรของไฮสโคป คือ การจัดการเรียนรู้ที่เน้นการลงมือทำผ่านมุมกิจกรรมที่หลากหลาย (Learning By Doing) พร้อมไปด้วยสื่อการเรียนรู้และกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กมาเป็นตัวช่วย โดยปล่อยให้เด็กเป็นผู้ริเริ่มการเล่นหรือกิจกรรมต่าง ๆ อย่างอิสระด้วยตัวเอง มีพื้นฐานแนวคิดมาจากทฤษฎีของเพียเจท์ (Piage’s Theory) ที่ว่าด้วยการพัฒนาทางสติปัญญา ที่เน้นการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ
ซึ่งเด็กสามารถสร้างความรู้ได้เองโดยใช้กระบวนการสร้างสรรค์การเรียนรู้ (Constructive process of learning) ผ่านการกระทำของตน และการประเมินผลงานอย่างมีแบบแผน จึงต้องคอยดูแลหากเด็กปฐมวัยมีการเล่นแบบสะเปะสะปะเพื่อให้เขาเรียนรู้ที่จะทำกิจกรรมตามอิสระของตัวเองแบบไม่ทำให้คนอื่นและตัวเองเกิดปัญหาได้ เช่นเดียวกับการเล่นตามมุมประสบการณ์ภายใต้แนวคิดไฮสโคป

ขั้นตอนการเล่นตามมุมประสบการณ์ภายใต้แนวคิดไฮสโคป
การเล่นตามมุมประสบการณ์ภายใต้แนวคิดไฮสโคป เป็นการเล่นที่ให้เด็กปฐมวัยได้มีอิสระในการเลือกเล่นตามมุมประสบการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมุมดนตรี มุมบ้าน มุมวิทยาศาสตร์ มุมอาชีพ หรือมุมต่าง ๆ ที่คุณครูได้จัดเตรียมไว้ให้ แต่จะแตกต่างกับการเล่นกิจกรรมเสรีอื่นตรงที่ต้องมีการจัดกิจกรรมให้เด็กสามารถเล่นแบบมีแบบแผนด้วยตัวเองมากขึ้น โดยมีขั้นตอนดังนี้
1.ครูให้เด็กปฐมวัยเลือกมุมประสบการณ์ที่อยากเล่นในกิจกรรมเสรี โดยแต่ละมุมจะจำกัดจำนวนผู้ที่สามารถเข้าเล่นได้
2.เมื่อเด็กคนใดเลือกเล่นมุมประสบการณ์ไหนให้มาบอกคุณครู แล้วคุณครูจะนำสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์ประจำมุมนั้น ๆ มาแปะที่แผ่นกระดานชื่อมุมคล้ายกับการลงทะเบียนเข้ามุมในแต่ละครั้ง ซึ่งหากเกินจำนวนเด็กที่เล่นโดยดูจากจำนวนสติ๊กเกอร์แล้ว เด็กที่เกินมาก็จะต้องเลือกเล่นมุมอื่นแทน
3.หลังจากเล่นมุมประสบการณ์จนถึงเวลาที่กำหนดแล้วจะมีการให้เปลี่ยนมุมที่เล่น โดยให้เด็กปฐมวัยกลับมาเลือกเล่นมุมต่าง ๆ โดยการบอกครูพร้อมแปะสติ๊กเกอร์อีกครั้ง
4.เด็กปฐมวัยเล่นมุมประสบการณ์จนเวลาหมด แล้วนำประสบการณ์การเล่นหรือความประทับใจมาร่วมพูดคุยกันในชั้นเรียน

บทบาทของครูในการเล่นตามมุมประสบการณ์ภายใต้แนวคิดไฮสโคป
1.ครูปฐมวัยต้องมีการจัดเตรียมสื่อการเรียนรู้ในมุมประสบการณ์ที่มีความหลากหลายให้เด็กปฐมวัยสามารถเลือกเล่นได้อย่างอิสระตรงกับแนวคิดไฮสโคป
2.ครูปฐมวัยต้องมีการเตรียมอุปกรณ์กระดานและสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์ในการลงทะเบียนเข้ามุมประสบการณ์ของเด็กปฐมวัยให้พร้อมในแต่ละครั้งเพื่อปลูกฝังให้เด็กรู้จักเล่นแบบมีแบบแผน ขั้นตอน ไม่เลือกเล่นในช่วงเวลาสั้น ๆ หรือไปแย่งพื้นที่เล่นของคนอื่นในการเล่นตามมุมประสบการณ์ภายใต้แนวคิดไฮสโคป
3.ครูปฐมวัยต้องคอยดูแลควบคุมการเล่นตามมุมประสบการณ์ภายใต้แนวคิดไฮสโคปของเด็กปฐมวัยอยู่ห่าง ๆ
รูปภาพประกอบ : Pixabay
#แนวคิดไฮสโคป #ไลฟ์สไตล์ของแม่บ้าน #แม่บ้านยุคใหม่