“นิทาน” เป็นสื่อการเรียนรู้ที่อยู่ใกล้ตัวเด็กที่สุดและยังทำหน้าที่เป็นของเล่นซึ่งนำพาเด็กไปสู่จินตนาการ มุมมองความคิด และทัศนคติที่กว้างไกลเกินกว่าที่ผู้ใหญ่จะคาดถึง ด้วยเหตุนี้หากเด็กคนใดไม่เคยฟังนิทานหรือจับนิทานก็จะทำให้เด็กคนนั้นไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจเท่าที่ควร กลายเป็นเด็กที่จริงจังกับชีวิตมากเกินวัยด้วยตามที่นักวิชาการบางท่านได้กล่าว นิทานจึงเปรียบเสมือนเพื่อนในจินตนาการของเด็กทุกคนเหมือนพวกเขาฝันถึงโลกที่งดงาม แต่ก็ยังมีนิทานบางอย่างที่คุณไม่ควรเล่าให้เด็กปฐมวัยได้ฟัง เพราะนอกจากจะไม่ช่วยเสริมจินตนาการเท่าไหร่แล้ว อาจจะยังทำให้เด็กเกิดความกลัวได้ด้วย จะมีนิทานลักษณะใดบ้าง ตามไปดูกันดีกว่า

นิทานที่มีจุดจบแบบสูญเสียของตัวละคร
หลายคนอาจจะคิดว่านิทานที่แสดงให้เห็นถึงจุดจบของตัวละครนับเป็นนิทานที่มีความสมจริงและสมเหตุสมผลดี ด้วยในโลกแห่งความจริงไม่ว่าอย่างไรคนเราก็ต้องตายหรือทำอะไรก็ต้องได้รับผลกรรมที่ทำไว้ด้วยความสูญเสีย แต่กับเด็กปฐมวัยที่โลกของเขายังไม่กว้างพอและมีแต่ความใสบริสุทธิ์ในจิตใจ การที่จะให้เขาฟังเรื่องราวอันจบลงด้วยโศกนาฏกรรมหรือการสูญเสียทุกอย่าง รู้สึกถึงการไร้ตัวตน ไร้ที่พึ่งพิงนั้นจะทำให้เด็กปฐมวัยรู้สึกหวาดกลัวต่อโลกและไม่กล้าแสดงออกในการกระทำต่าง ๆ เพราะกลัวจะผิดพลาดและมีจุดจบเหมือนตัวละครนั้น ๆ ได้ จึงเป็นนิทานที่ไม่ควรให้เด็กปฐมวัยได้ฟัง

นิทานที่มีการทำลายชีวิตผู้อื่น
นิทานหลายเรื่องไม่ได้มีแต่ฉากที่แฝงไปด้วยความสุขของตัวละครเท่านั้น ขึ้นชื่อว่า “นิทาน” ก็ย่อมต้องมีตัวละครไม่ดีที่เข้ามาสร้างปัญหา ก่อความเดือดร้อนเพื่อให้ตัวละครต่าง ๆ ได้ร่วมกันแก้ปัญหาและต่อสู้เพื่อสันติสุข ซึ่งหากเป็นพฤติกรรมที่ตัวละครร้ายไม่ได้สร้างปัญหามากก็ดีไป แต่หากเป็นนิทานที่ตัวละครนั้นมีพฤติกรรมชอบรังแกตัวละครอื่น ๆ ด้วยวิธีเลวร้ายหรือตัวละครอื่นที่ป้องกันตัวเองโดยการนำพาให้อีกฝ่ายถึงแก่ความตายด้วยวิธีน่ากลัว นิทานที่ไม่ควรให้เด็กปฐมวัยได้ฟังเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เด็กกลัวการฟังนิทานและไม่กล้าออกสู่โลกภายนอกอีกเลย ตัวอย่างนิทานลักษณะนี้ก็คือ ฮันเซลกับเกรเทลนั่นเอง ซึ่งไม่ว่าใครก็ต้องจำฉากที่เด็กน้อยผลักแม่มดลงในเตาให้ไฟไหม้แน่นอนซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่าโหดร้ายมาก

นิทานที่ตัวละครมีพฤติกรรมไม่ดีต่อครอบครัว
หนึ่งในนิทานที่ไม่เหมาะสมจะนำมาเล่าให้เด็กปฐมวัยฟังก็คือ นิทานที่มีเนื้อหาการใช้พฤติกรรมความรุนแรงต่อเด็กในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นการทุบตี ดุว่า ทารุณกรรมใช้งานต่าง ๆ รวมถึงการนำเด็กไปทิ้งให้ต้องอยู่คนเดียวซึ่งในโลกของเด็กปฐมวัย บ้านของเขาก็คือคนในครอบครัว ไม่มีใครที่จะดีและน่าไว้ใจไปกว่าคนในครอบครัวแล้ว แต่หากเด็กได้ฟังนิทานที่มีเนื้อหาเช่นนี้ก็จะทำให้เด็กเกิดความระแวงคนในครอบครัวขึ้นมาได้ จนอาจนำไปสู่การแสดงออกในพฤติกรรมก้าวร้าว ช่างน้อยใจ และยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางในบ้านได้
รูปภาพประกอบ
http://storytellingx10.blogspot.com/