ก่อนที่มนุษย์เราจะสามารถเดิน กระโดด และวิ่งได้อย่างคล่องแคล่วในทุกวันนี้ ในวัยเด็กทุกคนก็ย่อมต้องผ่านอะไรต่าง ๆ มามากมายกว่าที่กล้ามเนื้อขาจะสามารถมีพัฒนาการที่ดีตามอายุและฝึกบ่อย ๆ จนสามารถใช้ในการเคลื่อนไหวไปไหนมาไหนได้ตามต้องการ ในส่วนหนึ่งนั้นท่าทางการเดินของคนแต่ละคนจะดีมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ที่เลี้ยงลูกในช่วงปฐมวัยและความใส่ใจด้วย บางคนอาจจะละเลยไม่ได้ศึกษาจนคิดว่าเดี๋ยวพอเติบโตขึ้นลูกก็จะสามารถเรียนรู้และเดินได้ด้วยตัวเองทำให้กว่าเด็กปฐมวัยจะเดินได้ก็อาจช้ากว่าคนอื่น อีกทั้งยังกลายเป็นเด็กช่างงอแงต้องให้พ่อแม่อุ้มตลอดเวลาด้วย มาวันนี้เราก็จะอธิบายเรื่องพัฒนาการเดินของเด็กที่คุณแม่ควรรู้ก่อนใคร เพราะเป็นคนที่ใกล้ชิดกับลูกน้อยที่สุด หากรู้แล้วก็ขอให้คุณนำความรู้นี้ไปใช้ในการฝึกลูกเดินแบบค่อยเป็นค่อยไป เดี๋ยวก็ค่อย ๆ เดินได้เอง

ลำดับ 1 การคืบ
เด็กปฐมวัยในช่วง 4 – 5 เดือนจะยังไม่สามารถใช้งานกล้ามเนื้อขาได้ เขาจะมีพัฒนาการในลำดับแรกจากการคืบซึ่งก็คือ การใช้มือจับพื้นและเอาร่างกายของตัวเองค่อย ๆ คืบไปตามทางต่าง ๆ และสามารถพลิกตัวคว่ำ – หงายร่างกายด้วยตัวเอง ในระยะนี้แม้เด็กปฐมวัยจะยังสามารถคืบไปได้เพียงไม่ไกล แต่ก็ควรเอาสิ่งกีดขวางแข็ง ๆ หรือที่เป็นอันตรายกับเด็กออก

ลำดับ 2 การคลาน
เด็กปฐมวัยในช่วง 6 – 8 เดือนจะเปลี่ยนจากการคืบ มาเป็นการใช้มือยันพื้นและเอาเข่าตั้งกับพื้น ใช้สะโพกต้นขา เพื่อใช้ประโยชน์ในการคลานไปในทิศทางต่าง ๆ ที่ตัวเองต้องการ ในระยะ 6 เดือนเศษ ๆ เด็กปฐมวัยบางคนจะยังคลานได้เพียงช้า ๆ และอาจมีล้มลงกับพื้นบ้างเพราะกล้ามเนื้อแขนยังไม่ปรับตัวดี แต่พอย่างเข้าเดือนที่ 7 ของชีวิต เด็กปฐมวัยก็จะสามารถคลานได้อย่างคล่องแคล่วและผู้ใหญ่บางคนก็ตามไม่ทันเลย

ลำดับ 3 การตั้งไข่
เด็กปฐมวัยในช่วง 9 – 10 เดือนจะเปลี่ยนจากการคลานมาเป็นการตั้งไข่โดยใช้มือทั้งสองข้างจับสิ่งของที่ตั้งอยู่ในบ้านเพื่อพยุงตัวเองให้สามารถยืนขึ้นได้ ในระยะแรกคุณพ่อคุณแม่อาจจะอุ้มลูกขึ้นมาและจับมือเด็กปฐมวัยให้เกาะบนสิ่งของเพราะเด็กจะยังไม่สามารถยันตัวลุกขึ้นได้เอง พอนาน ๆ ไปเด็กจะสามารถยืน หรือ ตั้งไข่เองได้ซึ่งควรมีการฝึกโดยให้เด็กจับมือคุณพ่อคุณแม่ตั้งไข่กับพื้นบ่อย ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อขาใช้งานได้อย่างแข็งแรง

ลำดับ 4 การเดิน
เด็กปฐมวัยในช่วง 10 – 15 เดือนจะเริ่มเดินได้โดยการที่คุณพ่อคุณแม่ฝึกจับมือลูกเหมือนเวลาตั้งไข่ แต่เปลี่ยนมาเคลื่อนตัวถอยหลังแบบค่อยเป็นค่อยไปซึ่งเด็กก็จะค่อย ๆ เท้าลงน้ำหนักไปข้างหน้าด้วยตัวเองซึ่งครั้งแรกอาจจะมีล้มบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา ในแต่ละวันต้องมีการฝึกให้เด็กก้าวเท้าเดินทีละก้าวจนเด็กชำนาญจึงค่อยเพิ่มจำนวนก้าวการเดินมากขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อเด็กสามารถเดินได้ ต่อไปคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องจับมือเด็กปฐมวัยเดินอีกแล้ว เพราะพวกเขาจะสามารถเดินได้เองโดยการจับสิ่งของภายในบ้านเพื่อประคองตัวเองในช่วงหัดเดิน พอหลังจากนั้นเด็กก็จะสามารถเดินได้โดยไม่ต้องมีสิ่งของคอยจับอีกต่อไป
บ้านและสวน ไลฟ์สไตล์ของแม่บ้าน บ้านยุคใหม่ เลี้ยงลูก แม่และเด็ก
รูปภาพประกอบ : Pixabay